สำนักงานอัยการสูงสุด

สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาทั้งปวง ดำเนินคดีแพ่ง และให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ หรือสำนักงานอัยการสูงสุด วิสัยทัศน์ “องค์กรอัยการมีความเป็นเลิศในการยุติธรรม และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน” พันธกิจ ๑. อำนวยความยุติธรรมทางอาญาและบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรม ๒. รักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน 3. พัฒนางานด้านสิทธิมนุษยชน คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งในและนอกประเทศตามหลักมาตรฐานสากล 4. พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางกฎหมายกับองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ 5. พัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ

หอสมุดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญได้รับการจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยมีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นหน่วยธุรการและ นับแต่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญชุดแรก เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๑  ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ จัดตั้งสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญเป็นการชั่วคราว อยู่ที่ ๔๙/๑ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้บริหารชุดก่อตั้งได้ให้ความสำคัญกับห้องสมุดในฐานะที่เป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการอันเป็นประโยชน์ในวงงานศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ในระยะเริ่มต้นได้จัดหาหนังสือกฎหมายและการเมืองการปกครอง ได้ประมาณ ๓๐๐ เล่ม มีการจัดทำทะเบียนหนังสือชุดแรกเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๒ โดยอาศัยพื้นที่ว่างระหว่างห้องทำงาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นมุมจัดวางหนังสือและจัดเจ้าหน้าที่ไว้บริการให้ยืม-คืน ดูแลรักษาตามความเหมาะสม จนกระทั่งปลายปี ๒๕๔๓ ได้ย้ายที่ทำการมายังอาคารบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญถาวรแห่งแรกจึงได้จัดให้มีห้องสมุดศาลรัฐธรรมนูญขึ้นบริเวณชั้น ๑ ของอาคารบ้านเจ้าพระยารัตนา ธิเบศร์ ห้องสมุดศาลรัฐธรรมนูญได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมีทรัพยากรสารนิเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีการลงรายการทรัพยากรสารนิเทศเป็นการจัดหมวดหมู่แบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน (LC) และได้นำระบบห้องสมุดอัตโนมัติ (Elib) มาใช้เพื่อให้สามารถทำการสืบค้นผ่านอินเทอร์เน็ตจากหน้าเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ…

ห้องสมุดสถาบันพระปกเกล้า

ห้องสมุดสถาบันพระปกเกล้า เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการ การค้นคว้าวิจัย และการศึกษาอบรมเพื่อตอบสนองต่อพันธกิจของสถาบันฯก่อตั้งในปลายปี พ.ศ. 2543 โดยศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าในอดีต) หลังจากนั้นได้มีการจัดหาสิ่งพิมพ์เพื่อให้บริการแก่บุคลากรและผู้เข้ารับการศึกษาอบรมของสถาบันพระปกเกล้า ทั้งนี้ในระยะหลังเนื่องจากมีบุคคลภายนอกสนใจที่จะค้นคว้าข้อมูล สารสนเทศด้านการเมืองการปกครองของสถาบัน ฯ จึงได้เปิดบริการให้แก่บุคคลภายนอก ทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุด ฯ มีเนื้อหาด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของประชาชน ธรรมาภิบาล การจัดการความขัดแย้งและการเสริมสร้างสันติวิธี โดยแบ่งทรัพยากรออกเป็นประเภทต่าง ๆ อาทิ หนังสือ เอกสารวิชาการส่วนบุคคล เอกสารวิชาการกลุ่ม วิทยานิพนธ์ สิ่งพิมพ์สถาบัน ฯ วารสาร หนังสือพิมพ์และโสตทัศนวัสดุ ห้องสมุด ฯ ใช้ระบบจัดหมวดหมู่ของห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress Classification) นอกจากนี้ยังมีระบบหมวดหมู่เฉพาะที่กำหนดขึ้นตามความเหมาะสมของทรัพยากรสารสนเทศประเภทต่าง ๆ เช่น สิ่งพิมพ์สถาบัน ฯ และเอกสารวิชาการ เป็นต้นมา บริการอ่าน

ห้องสมุดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ห้องสมุดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือ หอสมุดรัฐสภา ดำเนินการโดยกลุ่มงานห้องสมุด และกลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ ให้บริการสารสนเทศทางวิชาการเพื่อสนับสนุนงานด้านนิติบัญญัติ และส่งเสริมความรู้ด้านการเมืองการปกครอง แก่สมาชิกรัฐสภา คณะกรรมาธิการ ข้าราชการ บุคคลในวงงานรัฐสภา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ใช้เป็นแหล่งในการเข้าถึง สืบค้น และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสารสนเทศ ประเภทงานบริการ – บริการยืม-คืน ทรัพยากรสารสนเทศ – บริการยืมต่อทรัพยากรสารสนเทศ (Renew) – บริการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศ (OPAC) – บริการแนะนำให้จัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศ (Purchase suggestions) – บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า ทางโทรศัพท์ e-mail และทาง Live Chat – บริการทรัพยากรสารสนเทศผ่านทางเว็บไซต์ (https://library.parliament.go.th) – บริการคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ (Legislative Institutional Repository of Thailand – LIRT) > Website            https://dl.parliament.go.th/…

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา สถาบันหลักหนึ่งในสามของอำนาจประชาธิปไตย เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ทำหน้าที่นิติบัญญัติ ในการตรากฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ให้ความเห็นชอบกิจการบ้านเมืองที่สำคัญ รวมถึงการใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ สำนักวิชาการ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ จัดให้มีการวิจัยและรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ ตลอดจนการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ ดำเนินการจัดทำข้อมูลและข้อเสนอแนะทางวิชาการตามความต้องการของสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานภายในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและบุคคลในวงงานสภา ได้แก่ การจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและญัตติ การจัดทำเอกสารทางวิชาการและเอกสารเผยแพร่ด้านการเมืองการปกครอง ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานและการให้บริการงานห้องสมุด การพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ การจัดทำดัชนีและฐานข้อมูล โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพ การประสานงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศกับหอสมุดรัฐสภานานาประเทศ ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์การเมืองการปกครองตามหลักวิชาการพิพิธภัณฑ์ บริการนำชม จัดแสดงนิทรรศการ และการบริหารงานจดหมายเหตุของรัฐสภา

ห้องสมุดสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

ห้องสมุดสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นห้องสมุดเฉพาะ (Special library) ให้บริการพนักงานภายในและบุคคลทั่วไปด้วยสารสนเทศที่เน้นด้านกฎหมาย การเมืองการปกครอง ข้อมูลของผู้ตรวจการแผ่นดินของไทย และข้อมูลสารสนเทศจากผู้ตรวจการแผ่นดิน และองค์กรที่มีอำนาจคล้ายคลึงกันในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ห้องสมุดเริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2545 เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ส่วนวิจัยและวิชาการ ในขณะนั้น โดยใช้ระบบจัดหมวดหมู่แบบทศนิยมดิวอี้ (Dewey Decimal Classification: DC) มีนักวิชาการเป็นผู้รับผิดชอบดูแลในการจัดการทรัพยากรสารสนเทศ ให้บริการยืม – คืน ด้วยระบบมือ จากนั้นในปี พ.ศ. 2550 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งงานและขอบเขตหน้าที่ของงานในสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยให้ห้องสมุดอยู่ในส่วนงานของ “ศูนย์ศึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน” และต่อมาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหน่วยงานอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ได้กำหนดให้ห้องสมุดอยู่ในการกำกับดูแลของ “สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินศึกษา” เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2555 เริ่มมีการดำเนินงานห้องสมุดเต็มรูป มีบรรณารักษ์ทำหน้าที่ประจำห้องสมุด และได้นำระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Aleph เข้ามาบริหารงานห้องสมุด และให้บริการสืบค้นโดยใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ผู้ใช้สามารถสืบค้นและยืม – คืน ทรัพยากรสารสนเทศได้สะดวก รวดเร็ว

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน เกิดขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินให้ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน กรณีที่ได้รับความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ หรือพนักงานของรัฐ ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติ มาตรา 242 – 245 โดยมีเจตนารมณ์สานต่อจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่มุ่งหวังให้มีกลไกการคุ้มครองสิทธิประชาชน และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ ดังนี้ มาตรา 230 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ (1) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใดๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม แก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ (2) แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจาก การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมนั้น (3) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินตาม…

วิทยบริการศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

วิทยบริการศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง  เป็นแหล่งรวมความรู้ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ ให้บริการสื่อสารนิเทศต่างๆ  เก็บรวบรวมคำพิพากษาศาลชั้นต้น และคำพิพากษาศาลฎีกา ของคดีในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ เหมาะสำหรับเป็นเครื่องมือในการวิจัย ผู้ที่จะทำการวิจัย จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเบื้องต้นจากเรื่องที่มีอยู่แล้ว ให้บริการแก่บุคลากรภายในหน่วยงาน ตลอดจนประชาชนทั่วไปและผู้ที่สนใจ ประเภทงานบริการ งานบริการยืม-คืน บริการช่วยค้นคว้า มุมให้บริการ ห้องสื่อการเรียนรู้ มุมที่นั่งเดี่ยว

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539  โดยมีเหตุผลให้การจัดตั้งเพื่อให้คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีอาญาและคดีแพ่ง โดยทั่วไปได้รับพิจารณาพิพากษา โดยผู้พิพากษาซึ่งมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และมีบุคคลภายนอกซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเข้ามาร่วมพิจารณาและพิพากษาคดีด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เปิดทำการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ห้องสมุดวิทยบริการศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง