เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 เวลา 14.00 นาฬิกา นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในพิธีเปิด “ศาลฎีกานิทรรศน์” ในรูปแบบการจำลองสภาวะแวดล้อมออนไลน์ (Virtual event) เผยแพร่ภาพและเสียงผ่านระบบ Streaming และ Facebook Live เพจสื่อศาล โดยมีนางนุจรินทร์ จันทร์พรายศรี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ประธานคณะทำงานศูนย์การเรียนรู้ทางกฎหมายและกระบวนการทางศาล ณ ศาลฎีกา กล่าวถึงความเป็นมา และนางกรกันยา สุวรรณพานิช เลขาธิการประธานศาลฎีกา คณะทำงานฯ กล่าวถึง ภาพรวมและสื่อที่ใช้ในการจัดแสดงภายใน “ศาลฎีกานิทรรศน์”
“ศาลฎีกานิทรรศน์” จัดตั้งขึ้นเพื่อบอกเล่าความเป็นมาของกระบวนการทางศาลของประเทศไทย ตามนโยบายตั้งแต่นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา และสานต่อมาโดยนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน ที่มีดำริให้เปิดโอกาสแก่ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ตลอดจนกระบวนการทางศาลแล้ว อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อศาลฎีกาและศาลยุติธรรมในที่สุด จึงได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและขยายผลออกมาเป็นโครงการศูนย์การเรียนรู้ทางด้านกฎหมายและกระบวนการทางศาล ณ ศาลฎีกา จนเกิด “ศาลฎีกานิทรรศน์” ในวันนี้
โดยนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาและประธานในพิธีฯ กล่าวว่า “วันนี้ ศาลฎีกานิทรรศน์ ซึ่งเป็นนิทรรศการถาวรและเป็นส่วนสำคัญเสมือนหัวใจของศูนย์การเรียนรู้ทางด้านกฎหมายและกระบวนการทางศาล ณ ศาลฎีกา เสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมที่จะให้ทุกท่านได้ชื่นชมและภาคภูมิใจในความเป็นศาลฎีกา และพร้อมแล้วที่จะให้นักเรียน นักศึกษา นักกฎหมาย และประชาชนทุกหมู่เหล่าได้เข้ามารับรู้ ศึกษาและเข้าใจประวัติความเป็นมาของระบบกฎหมายของประเทศ ประวัติของศาลฎีกา กระบวนการทางศาลและระบบยุติธรรม ดิฉันเชื่อว่าบทบาทหน้าที่ และการทำงานในการอำนวยความยุติธรรมแก่สังคมภายใต้หลักการ “บริสุทธิ์ ยุติธรรม” ของศาลฎีกาและศาลยุติธรรมทั้งปวง จะมีส่วนสำคัญในการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกแก่คนในสังคมให้มีคุณธรรม จริยธรรม และเคารพในกฎหมายบ้านเมือง อันจะนำไปสู่การสร้างความสงบสุขในสังคมได้ทางหนึ่ง และที่สำคัญดิฉันมั่นใจว่า เมื่อเราเปิดโอกาสในการสร้างความรับรู้เช่นนี้แล้ว จะส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นศรัทธาในศาลฎีกามากยิ่งขึ้น และย่อมจะตระหนักได้ด้วยตนเองว่า ศาลยุติธรรมจะเป็นที่พึ่งแรกที่ประชาชนสามารถพึ่งได้อย่างแท้จริงและตลอดไป”
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าชมสามารถติดต่อหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสนับสนุนงานเลขานุการศาลฎีกา โทร. 02 220 3456 ต่อ 40303, 40304 หรือ e-mail: supreme@coj.go.th